Loading...
คุณกำลังมองหาอะไร?

การเข้าร่วมประชุมสังเกตการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ ภายใต้โครงการ SHARE ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 6 – 8 กุมภาพันธ์ 2560 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

17 กุมภาพันธ์ 2560 | อ่าน 839 ครั้ง

          เมื่อวันที่ 6 - 8กุมภาพันธ์ 2560นายเอกพงษ์ เลาหะเทียนสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นางขนิษฐา จรูญชนม์ หัวหน้าสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ และ ดร.ณัฏฐญาณี จันทพลาบูรณ์ นักวิชาการ งานวิเทศสัมพันธ์ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เข้าร่วมสังเกตการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ ภายใต้โครงการ SHARE ครั้งที่ 4 (The 4th SHARE National Workshop) ณ โรงแรม Intercontinental Jakarta MidPlazaกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

          การประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติ ณ กรุงจาการ์ตาดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 140 คน การประชุมประกอบไปด้วยการบรรยายกลุ่มใหญ่ การบรรยายกลุ่มย่อย การอภิปรายกลุ่ม และการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเนื้อหาของการประชุมมุ่งเน้นในการสร้างความเข้าใจและการรับรู้เกี่ยวกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน (ASEAN Qualifications Reference Framework หรือ AQRF) และกรอบประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework หรือ AQAF)และการแบ่งปันประสบการณ์ ผลกระทบ และความท้าทายจากสถาบันอุดมศึกษา ผู้ใช้บัณฑิต และนักศึกษา อีกทั้งการนำแนวปฏิบัติที่ดีไปวางแผนเชิงปฏิบัติการ

          บ่ายวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560คณะผู้แทน สมศ. เข้าร่วมประชุมกับผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และผู้แทนจากหน่วยงาน German Academic Exchange Service (DAAD)รวมทั้งหมด 8คน เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดับชาติในประเทศไทยระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 1 กันยายน 2560 นี้ โดย Dr. Susanne Liermannผู้จัดการโครงการของ DAAD กล่าวว่าประทับใจในการเตรียมการของประเทศไทย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือด้านต่างๆ อาทิ การเชิญวิทยากร การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุม และเชื่อมั่นว่าการประชุมระดับชาติที่จะมีขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุม ในการสร้างความเข้าใจให้แก่นักการศึกษาไทย และช่วยให้การศึกษาของประเทศไทยก้าวเข้าสู่ความกลมกลืนในระดับภูมิภาคต่อไป

          วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 นายเอกพงษ์ เลาหะเทียนสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญ สมศ. รับเชิญเป็นวิทยากรอภิปรายกลุ่ม เรื่อง การสร้างความเชื่อมั่นระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน: ประโยชน์ของกรอบการศึกษาระดับภูมิภาคและความสำคัญของการเทียบเคียง ร่วมกับ Prof. Zita Mohd Fahmi ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของ Malaysian Qualifications Agency และเลขานุการเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Network) จากประเทศมาเลเซีย Kyi Shwinอธิการบดี ของ Yangon University of Foreign Languages และเลขาธิการ National Commission for UNESCOจากประเทศเมียนมาร์ และ Aris Junaidi ผู้อำนวยการด้านการประกันคุณภาพของกระทรวงการวิจัย เทคโนโลยี และการอุดมศึกษา จากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งดำเนินรายการโดย Michael Hörig จากโครงการ SHAREโดยผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจเกี่ยวกับการเทียบเคียงกับกรอบการศึกษาระดับภูมิภาค ว่าจะมีประโยชน์อย่างไร และจะทำอย่างไรเพื่อให้สามารถเทียบเคียงได้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรอบการศึกษาของภูมิภาคเริ่มเข้ามามีบทบาทในการศึกษาระดับอุดมศึกษาในอาเซียนมากขึ้น และแต่ละประเทศก็พยายามที่จะเรียนรู้และเทียบเคียงเพื่อสร้างความกลมกลืนให้เกิดในระดับภูมิภาค การเทียบเคียงนี้ เปรียบเสมือนการเรียนรู้ภาษากลางที่ใช้สื่อสารกันระหว่างประเทศ ช่วยกระชับความร่วมมือให้เกิดขึ้น และส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้เรียนได้มากยิ่งขึ้น ในมุมมองของมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน การเทียบเคียงมาตรฐานนี้จะช่วยทำให้สถานศึกษาเป็นที่รู้จักในระดับภูมิภาคด้วย ท้ายสุด Michael Hörig ได้กล่าวว่า การสร้างความกลมกลืนนั้น จะประสบความสำเร็จได้ ภูมิภาคต้องให้ความร่วมมือและดำเนินการไปพร้อมๆ กัน ปัจจัยสำคัญคือ รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ต้องให้การสนับสนุนด้วย

รูปภาพประกอบ