Loading...
คุณกำลังมองหาอะไร?

สมศ. รับการประเมินภายนอก ภายใต้โครงการนำร่องการประเมินหน่วยงานประกันคุณภาพภายนอกของสหภาพยุโรป (EU SHARE External Quality Assurance Agency Pilot Review)

22 พฤศจิกายน 2560 | อ่าน 885 ครั้ง

          สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เป็นหน่วยงานประกันคุณภาพภายนอกแห่งแรกในอาเซียนที่ได้รับการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้โครงการนำร่องการประเมินหน่วยงานประกันคุณภาพภายนอกของสหภาพยุโรป (EU SHARE External Quality Assurance Agency Pilot Review) ด้วยความร่วมมือของเครือข่ายประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Network : AQAN) การประเมินดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการดำเนินงานและระบบของหน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอกของสมาชิก AQANถึงความสอดคล้องกับหลักการตามกรอบประกันคุณภาพอาเซียน (ASEAN Quality Assurance Framework หรือ AQAF) การเข้าร่วมโครงการดังกล่าวของ สมศ. เป็นโอกาสดีที่ สมศ. ได้ประเมินตนเองและวางแผนพัฒนาองค์กร รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขจุดที่ควรพัฒนา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบการประกันคุณภาพการศึกษาของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่รัฐบาลและสถานศึกษา

          การประเมิน สมศ. ภายใต้โครงการนำร่องการประเมินหน่วยงานประกันคุณภาพภายนอกของสหภาพยุโรป ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 - 2 พฤศจิกายน 2560 โดยมีคณะกรรมการประเมินประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากยุโรปและอาเซียน จำนวน 4 คน ได้แก่ (1) Ms. Fiona Crozier เป็นหัวหน้าคณะ มาจาก Quality Assurance Agency for Higher Education ประเทศอังกฤษ (2) Ms. Dorte Kristoffersen ผู้อำนวยการบริหารของ Hong Kong Council for Accreditation of Academic and Vocational Qualification เขตปกครองพิเศษฮ่องกง (3) Prof. Dr. Hazman Shah bin Abdullah รองผู้อำนวยการบริหารของ Malaysian Qualifications Agency ประเทศมาเลเซีย (4) Dr. Indrianty Sudirman
จากมหาวิทยาลัย Hasanuddin ประเทศอินโดนีเซีย

          โครงการนำร่องการประเมินหน่วยงานประกันคุณภาพภายนอกของ AQAN ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการ European Union Support to Higher Education in the ASEAN Region : SHARE โดยจัดการประเมินหน่วยงานประกันคุณภาพภายนอกของประเทศในอาเซียน 4 หน่วยงาน ภายในปี พ.ศ. 2560 ได้แก่หน่วยงานประเมินคุณภาพภายนอกระดับชาติของไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการลงพื้นที่ประเมินภายใต้โครงการดังกล่าว มีการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้เสียกับการดำเนินการด้านการประกันคุณภาพของ สมศ. ประกอบด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สมศ. ผู้แทนจากหน่วยงานต้นสังกัด ผู้ประเมิน ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา ผู้รับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิของสภาวิชาชีพ ผู้ใช้บัณฑิตและนักศึกษา