Loading...
คุณกำลังมองหาอะไร?
ความเป็นมา

ความเป็นมา

24 มีนาคม 2565 | อ่าน 144,683 ครั้ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 81 กำหนดให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาแห่งชาติ จึงได้มี การยกร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 เป็นต้นมา ในหมวด 6 ว่าด้วยมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา 49 ได้กำหนดให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา เรียกโดยย่อว่า "สมศ." มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนที่ 99ก เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2543 โดยให้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกณฑ์ และวิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ โดยให้มีการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อย หนึ่งครั้งในทุก 5 ปี นับตั้งแต่การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน


นอกจากนี้ ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าจะต้องจัดให้มีการประเมินคุณภาพภายนอก ของสถานศึกษาทุกแห่งภายใน 6 ปี นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ใช้บังคับ

 

พระราชกฤษฏีกาจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 ในมาตรา 14 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า"คณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา" ประกอบด้วย

(1) ประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงในด้านการบริหาร มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(2) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนสามคน ได้แก่ ประธานกรรมการการศึกษาชั้นพื้นฐาน ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา และประธานกรรมการการอุดมศึกษา

(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินหกคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการบริหาร มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง

 
ทำไมต้องมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน)
ในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพนั้น จำเป็นต้องใช้หลักการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับการบริหารหรือดำเนินกิจการต่างๆที่ต้องมีการดำเนินงานให้  เป็นระบบครบวงจรโดยมีขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การประเมินผล เพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับ อันจะสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้เพียงใด รวมทั้งมีจุดอ่อนหรือปัญหาในเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การวางแผนและการดำเนินงานระยะต่อไปบรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ 
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผล โดยเฉพาะการประเมินคุณภาพภายนอก จากหน่วยงานที่เป็นกลาง เพราะจะทำให้เกิดกลไกในการตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชาติถึงหน่วยงานที่เล็กที่สุดคือสถานศึกษาและภายในห้องเรียนต้องมีการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา
 
ทำไมสำนักงานฯ ต้องเป็นองค์การมหาชน
การจัดการศึกษา ถือเป็นการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยรัฐได้หมายให้กระทรวง ทบวงกรมต้นสังกัด และสถานศึกษาเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของสังคมให้แก่ผู้รับบริการ คือผู้เรียน และผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้รับบริการโดยตรง รวมทั้งผู้รับบริการทางอ้อมคือสถานประกอบการ ประชาชน และสังคมโดยรวม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องตรวจสอบประเมินผลว่า การให้บริการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐและสนองความต้องการของลูกค้า หรือผู้รับบริการกลุ่มต่าง ๆ เพียงใด 

การที่หน่วยงานที่รับผิดชอบการประเมินคุณภาพภายนอกจำเป็นที่จะต้องเป็นองค์การมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่หน่วยงานราชการหรือ รัฐวิสาหกิจนั้น ก็เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพ เพราะมีความเป็นอิสระและมีอำนาจตัดสินใจได้ทั้งในด้านการบริหาร การจัดการ และการเงินของสำนักงาน ทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน ให้ลุล่วงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการบริหารตามสายการบังคับบัญชา ของ ระบบราชการ 

นอกจากนี้ การที่ไม่ต้องขึ้นกับหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาทำ ให้มีความเป็นกลาง และเป็นธรรมปราศจากแรงกดดันที่จะทำให้ผลการประเมิน ภายนอกเบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง อันจะก่อให้เกิดการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check & Balance) อย่างแท้จริง และจะทำให้การประเมินคุณภาพภายนอก เป็นบริการสาธารณะ ที่เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า การจัดการศึกษาที่เป็นอยู่นั้นได้ "ให้" สิ่งที่ผู้เรียน สังคมและรัฐต้องการด้วยคุณภาพที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพเพียงใด

144683

อ่าน