Loading...
คุณกำลังมองหาอะไร?
ความก้าวหน้า
การประเมิน
คุณภาพภายนอก

สมศ. รับฟังความคิดเห็นผู้บริหาร กศน. ประเมินภายนอกรอบสี่ กศน. 100 แห่ง ในปี 61 -

2 มี.ค. 61 15:54:48 | อ่าน 2,050 ครั้ง

          วันที่ 30 มกราคม 2561 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 สำนักงาน กศน. รองศาสตราจารย์ ดร.ณมน จีรังสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) พร้อมด้วย ดร.สมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ของ สมศ. และคณะ เข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ (พ.ศ. 2559–2563) การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมี ดร.วิเลขา ลีสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กศน. เป็นประธานการประชุม พร้อมผู้บริหารของ กศน. ประกอบด้วย ประธานและผู้แทนกลุ่มการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 19 กลุ่มทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม 

          รองศาสตราจารย์ ดร.ณมน จีรังสุวรรณ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า แนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่แนวใหม่ ของ สมศ. เป็นการประเมินคุณภาพภายนอกแนวใหม่ ซึ่งมีความสอดคล้องกับนโยบายชาติและการประกันคุณภาพภายในของ กศน. ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ โดยใช้ฐานการประเมินตามระบบประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา ภายใต้แนวคิดการประเมินแบบองค์รวม (Holistic Approach) ซึ่งหมายถึงการพิจารณาจากทุกมิติ เป็นการประเมินเชิงคุณภาพโดยคณะผู้ประเมินที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญสูง (Expert Judgment) ในการนี้ ดร.สมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพภายนอกการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ สมศ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดการศึกษาของ กศน. ต้องคำนึงถึงความมุ่งหมาย หลักการ และบริบทของ กศน. ซึ่งภารกิจหลัก คือ การส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นสิ่งสำคัญในการ “พัฒนาคน” ซึ่ง “คน” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ ในโลกปัจจุบันและอนาคตที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ผู้ที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จะต้องพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ต้องไม่พึ่งพาการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษาในสถาบันเท่านั้น (Institution Based Approach) แต่จะต้องมีการเรียนรู้ที่มาจากการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ “Learner Based Approach” กศน. จึงต้องส่งเสริมให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self Learning) ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ กศน. อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาของ กศน. จะต้องจัดการศึกษาแบบ “เชิงลึก” ถึงผู้รับบริการ ไม่ใช่แบบ “โปรยหว่าน” โดยจะต้องส่งเสริมและปลูกฝังความคิดให้บุคคลที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ (Learn how to learn) เป็นซึ่งเป็นแนวคิดหลัก ผ่านกระบวนการจัดการศึกษาตามอัธยาศัยในภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้รับบริการ รวมถึงการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนของการศึกษานอกระบบและการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งนี้จะต้องวิเคราะห์ และหากลยุทธ์ในการส่งเสริมการศึกษา กศน. ต่อไป” 
          สมศ. มุ่งพัฒนาผู้ประเมินภายนอก ซึ่งเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้กระบวนการประเมินคุณภาพภายนอกมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ โดยเป้าหมายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จะต้องทำการประเมินคุณภาพภายนอก กศน. จำนวน 100 แห่ง และอีกจำนวน 828 แห่ง ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562–2563 
 

  

2050

อ่าน

รูปภาพประกอบ